Blog

สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการออกแบบกายภาพด้านต่างๆ เช่น การออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์การออกแบบภายใน ตลอดจนการปรุงแต่งสภาพแวดล้อมให้ได้ประโยชน์ใช้สอยที่ดีที่สุดแก่เจ้าของงานและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงออกถึงคุณค่าแห่งศิลปะในสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นนั้น นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงด้านการวางแผนและเคหการด้วย

เพราะสถาปัตย์ไม่ได้มีแค่สาขาเดียว และในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีสาขาและชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนั้น บทความนี้เราจะชวนน้องๆ มาทำความรู้จักกับ สาขาเรียนทางด้านสถาปัตยกรรม ให้มากขึ้น มาทำความเข้าใจหลักสูตรและประเด็นสำคัญของการเรียนสถาปัตย์แขนงต่างๆ กันไว้ก่อนเข้าไปเรียนจริงดีกว่า


1. สาขาสถาปัตยกรรม (Architectural Design)
สาขาหลักของคณะสถาปัตยกรรม โดยหลักแล้วจะได้เรียนทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมการใช้วัสดุ วิธีการก่อสร้าง และความรู้ทางสาขาวิชาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง

สาขานี้ส่วนมากในแต่ละมหาวิทยาลัยจะใช้ระยะเวลาการเรียนการสอน 4 ปี จะได้วุฒิการศึกษา ว.ท.บ. หรือ 5 ปี ได้วุฒิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สถ.บ.) (ยกเว้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียน 6 ปีได้วุฒิป.โท) สำหรับบางที่ใช้เวลาเรียน 4 ปี  โดยโอกาสในการประกอบอาชีพของสาขานี้คือเป็นสถาปนิกออกแบบอาคาร บ้าน


2. สาขาสถาปัตยกรรมภายใน (Interior Architecture)
เป็นการเรียนในเรื่องงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายใน เป็นวิชาชีพทางด้านการออกแบบที่เน้นการจัดที่ว่างภายในอาคารเพื่อประโยชน์ใช้สอย และความงามโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมวัสดุและเทคโนโลยีในการก่อสร้าง ความรู้ทางวิศกรรม การประหยัดพลังงานและทรัพยากร สภาพเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้การใช้สอยภายในอาคารเกิดสภาพแวดล้อมที่ดีมีคุณภาพเหมาะสมแก่ผู้ใช้อาคารทั้งด้านร่างกาย

ระยะเวลาการเรียนสาขานี้โดยปกติจะใช้เวลา 4-5 ปี (ยกเว้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โอกาสในการประกอบวิชาชีพของสาขานี้ มีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน หรือ มัณฑนากร เป็นนักออกแบบนิทรรศการ หรือพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น


3. สาขาภูมิสถาปัตย์ (Landscape Architect)
เป็นสาขาที่เน้นทางด้านการปรับแต่งสิ่งแวดล้อมของมนุษย์และธรรมชาติให้มีความสมดุลกัน ศึกษาด้านสุนทรียภาพและการใช้สอยของเมืองและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ รวมถึงออกแบบสวนสาธารณะ สวนสัตว์ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่า ต้นน้ำ ตลอดจนการอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

ระยะเวลาการเรียนสาขานี้โดยปกติใช้เวลา 5 ปี โอกาสในการประกอบวิชาชีพเป็นนักออกแบบภูมิทัศน์ เช่น สวนสาธารณะ สวนสัตว์ อควาเรียม หรือ Out Door Space ของอาคารต่างๆ จนถึงสวนตามบ้านขนาดเล็ก รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านต้นไม้ประดับตกแต่ง


4. สาขาออกแบบอุตสาหกรรม หรือ ศิลปอุตสาหกรรม (Industrial Design)
สำหรับสาขานี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Industrial Design หรือ ID โดยสาขานี้จะมีชื่อเรียกและสังกัดคณะแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย อย่างเช่นที่จุฬาฯ จะมีสาขาวิชาย่อย ประกอบไปด้วย


Product Design หรือ นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ Mass Production เช่น การออกแบบรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนสิ่งของใกล้ตัวทุกชนิดจะต้องผ่านการออกแบบโดยนักออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น

Textile Design หรือนักออกแบบลายผ้า ออกแบบแฟชั่น อาชีพสไตล์ลิสต์ (Stylist)

Interior Design หรืออาชีพมัณฑนากรออกแบบตกแต่งภายใน นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ นักออกแบบนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์เป็นต้น

Graphic Design นักออกแบบกราฟฟิก นักออกแบบโฆษณาหรืออาร์ตไดเรกเตอร์ (Art Director)

Ceramics Design นักออกแบบเซรามิกส์ เช่นการออกแบบสุขภัณฑ์ เป็นต้น


5. สาขาสถาปัตยกรรมไทย (Thai Architecture)
เป็นสาขาที่เรียนทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ศึกษาแหล่งที่มาอิทธิพลขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทยศึกษา และฝึกเขียนลายไทยชนิดต่างๆ ตั้งแต่ง่ายไปจนถึงการบรรจุลายลงบนส่วนประกอบสถาปัตยกรรมให้ถูกต้องตามหน้าที่ และสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมไทยให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและสังคมปัจจุบัน

ระยะเวลาการเรียนการสอน ใช้เวลา 5 ปี มีสิทธิ์ในการสอบใบประกอบวิชาชีพสถาปนิก อาชีพสถาปนิกออกแบบอาคาร บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของประเทศไทย เช่น ศาสนสถาน หรือเรือนไทยภาคต่างๆ ซึ่งโอกาสในการประกอบวิชาชีพ ค่อนข้างจะดีเพราะผู้เชียวชาญทางด้านนี้มีน้อย นอกจากจะสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมไทยได้แล้ว ยังสามารถออกแบบเรือนไทยประยุกต์เช่นโรงแรง หรือรีสอร์ตสไตล์ไทยๆ ได้เป็นอย่างดี


6. สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Architecture)
ระยะเวลาการเรียนใช้เวลา 5 ปี เป็นหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับการวางผังเมืองให้ดีและมีประโยชน์ สาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองเหมาะสมกับน้องๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีจินตนาการ เพราะการทำงานเกี่ยวกับผังเมืองนั้นจะต้องคำนึงถึงการออกแบบเพื่อจัดระเบียบภูมิทัศน์ของบ้านเมือง อนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่า นอกจากนี้แล้ว จะต้องวางแผนผังเมืองเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อภัยภิบัติต่างๆ อีกด้วย

Author


Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Praesent fringilla tellus sit amet molestie rutrum. Sed volutpat orci quis nibh hendrerit fermentum. Aenean et nibh dui. In hac habitasse platea dictumst.