Blog
สาขาวิชาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีอะไรบ้าง?
สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการออกแบบกายภาพด้านต่างๆ เช่น การออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์การออกแบบภายใน ตลอดจนการปรุงแต่งสภาพแวดล้อมให้ได้ประโยชน์ใช้สอยที่ดีที่สุดแก่เจ้าของงานและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงออกถึงคุณค่าแห่งศิลปะในสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นนั้น นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงด้านการวางแผนและเคหการด้วย
เพราะสถาปัตย์ไม่ได้มีแค่สาขาเดียว และในแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีสาขาและชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนั้น บทความนี้เราจะชวนน้องๆ มาทำความรู้จักกับ สาขาเรียนทางด้านสถาปัตยกรรม ให้มากขึ้น มาทำความเข้าใจหลักสูตรและประเด็นสำคัญของการเรียนสถาปัตย์แขนงต่างๆ กันไว้ก่อนเข้าไปเรียนจริงดีกว่า
1. สาขาสถาปัตยกรรม (Architectural Design)
สาขาหลักของคณะสถาปัตยกรรม โดยหลักแล้วจะได้เรียนทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมการใช้วัสดุ วิธีการก่อสร้าง และความรู้ทางสาขาวิชาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง
สาขานี้ส่วนมากในแต่ละมหาวิทยาลัยจะใช้ระยะเวลาการเรียนการสอน 4 ปี จะได้วุฒิการศึกษา ว.ท.บ. หรือ 5 ปี ได้วุฒิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สถ.บ.) (ยกเว้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรียน 6 ปีได้วุฒิป.โท) สำหรับบางที่ใช้เวลาเรียน 4 ปี โดยโอกาสในการประกอบอาชีพของสาขานี้คือเป็นสถาปนิกออกแบบอาคาร บ้าน
2. สาขาสถาปัตยกรรมภายใน (Interior Architecture)
เป็นการเรียนในเรื่องงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายใน เป็นวิชาชีพทางด้านการออกแบบที่เน้นการจัดที่ว่างภายในอาคารเพื่อประโยชน์ใช้สอย และความงามโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมวัสดุและเทคโนโลยีในการก่อสร้าง ความรู้ทางวิศกรรม การประหยัดพลังงานและทรัพยากร สภาพเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้การใช้สอยภายในอาคารเกิดสภาพแวดล้อมที่ดีมีคุณภาพเหมาะสมแก่ผู้ใช้อาคารทั้งด้านร่างกาย
ระยะเวลาการเรียนสาขานี้โดยปกติจะใช้เวลา 4-5 ปี (ยกเว้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โอกาสในการประกอบวิชาชีพของสาขานี้ มีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกออกแบบตกแต่งภายใน หรือ มัณฑนากร เป็นนักออกแบบนิทรรศการ หรือพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น
3. สาขาภูมิสถาปัตย์ (Landscape Architect)
เป็นสาขาที่เน้นทางด้านการปรับแต่งสิ่งแวดล้อมของมนุษย์และธรรมชาติให้มีความสมดุลกัน ศึกษาด้านสุนทรียภาพและการใช้สอยของเมืองและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ รวมถึงออกแบบสวนสาธารณะ สวนสัตว์ การอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่า ต้นน้ำ ตลอดจนการอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
ระยะเวลาการเรียนสาขานี้โดยปกติใช้เวลา 5 ปี โอกาสในการประกอบวิชาชีพเป็นนักออกแบบภูมิทัศน์ เช่น สวนสาธารณะ สวนสัตว์ อควาเรียม หรือ Out Door Space ของอาคารต่างๆ จนถึงสวนตามบ้านขนาดเล็ก รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านต้นไม้ประดับตกแต่ง
4. สาขาออกแบบอุตสาหกรรม หรือ ศิลปอุตสาหกรรม (Industrial Design)
สำหรับสาขานี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Industrial Design หรือ ID โดยสาขานี้จะมีชื่อเรียกและสังกัดคณะแตกต่างกันไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย อย่างเช่นที่จุฬาฯ จะมีสาขาวิชาย่อย ประกอบไปด้วย
Product Design หรือ นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ Mass Production เช่น การออกแบบรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนสิ่งของใกล้ตัวทุกชนิดจะต้องผ่านการออกแบบโดยนักออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งสิ้น
Textile Design หรือนักออกแบบลายผ้า ออกแบบแฟชั่น อาชีพสไตล์ลิสต์ (Stylist)
Interior Design หรืออาชีพมัณฑนากรออกแบบตกแต่งภายใน นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ นักออกแบบนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์เป็นต้น
Graphic Design นักออกแบบกราฟฟิก นักออกแบบโฆษณาหรืออาร์ตไดเรกเตอร์ (Art Director)
Ceramics Design นักออกแบบเซรามิกส์ เช่นการออกแบบสุขภัณฑ์ เป็นต้น
5. สาขาสถาปัตยกรรมไทย (Thai Architecture)
เป็นสาขาที่เรียนทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ศึกษาแหล่งที่มาอิทธิพลขององค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทยศึกษา และฝึกเขียนลายไทยชนิดต่างๆ ตั้งแต่ง่ายไปจนถึงการบรรจุลายลงบนส่วนประกอบสถาปัตยกรรมให้ถูกต้องตามหน้าที่ และสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมไทยให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและสังคมปัจจุบัน
ระยะเวลาการเรียนการสอน ใช้เวลา 5 ปี มีสิทธิ์ในการสอบใบประกอบวิชาชีพสถาปนิก อาชีพสถาปนิกออกแบบอาคาร บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของประเทศไทย เช่น ศาสนสถาน หรือเรือนไทยภาคต่างๆ ซึ่งโอกาสในการประกอบวิชาชีพ ค่อนข้างจะดีเพราะผู้เชียวชาญทางด้านนี้มีน้อย นอกจากจะสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมไทยได้แล้ว ยังสามารถออกแบบเรือนไทยประยุกต์เช่นโรงแรง หรือรีสอร์ตสไตล์ไทยๆ ได้เป็นอย่างดี
6. สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Architecture)
ระยะเวลาการเรียนใช้เวลา 5 ปี เป็นหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับการวางผังเมืองให้ดีและมีประโยชน์ สาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองเหมาะสมกับน้องๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีจินตนาการ เพราะการทำงานเกี่ยวกับผังเมืองนั้นจะต้องคำนึงถึงการออกแบบเพื่อจัดระเบียบภูมิทัศน์ของบ้านเมือง อนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองเก่า นอกจากนี้แล้ว จะต้องวางแผนผังเมืองเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อภัยภิบัติต่างๆ อีกด้วย